ถึงเวลา.....บอกลาขวดนม (New)
|
คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนมีลูกติดขวดนมกันบ้างคะ เชื่อว่าคงมีพ่อแม่อยู่ไม่น้อยทีเดียวที่ปล่อยให้ลูกติดขวดนม เพราะคิดว่าลูกดูดนมจากขวดแล้วจะทานนมได้เยอะ ลูกจะได้โตเร็วๆ หรือเห็นว่าลูกหลับคาขวดนมไปแล้ว จะนอนได้นานไม่ตื่นง่าย คิดว่าช่วงเวลาที่ลูกดูดขวดนมนั้นเป็นช่วงเวลาที่ลูกมีความสุข หรือกลัวว่าหากลูกเลิกดูดขวดนมแล้วจะหันมาดูดนิ้วแทน แต่ทราบไหมคะว่า การปล่อยให้เด็กดูดขวดนมเป็นระยะเวลานานเกินไปนั้น เป็นผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น เรามีข้อมูลมาฝากกันค่ะ
เด็กปกติทั่วไปในวัย 3 5 ปี มักจะมีอาการติดขวดนม ซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวในหลายด้าน เช่น ทำให้เกิดฟันผุ โรคอ้วน อาการท้องผูก เด็กไม่ยอมรับประทานอาหาร และอื่นๆ ซึ่งพอจะจำแนกเป็นประเภทของปัญหาได้ดังนี้ค่ะ
ปัญหาการเกิดฟันผุ / ฟันยื่น เด็กหลายคนที่มักตื่นหรือร้องขึ้นมากลางดึก พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูมักจะให้เด็กกินนมจากขวดตลอดคืน เพื่อให้เด็กหลับต่อ ซึ่งหากในนมมีสารที่ให้ความหวาน ก็จะเป็นสาเหตุให้ฟันผุได้
จากการสำรวจปัญหาฟันผุจากขวดนม Baby bottle tooth decay พบว่า เด็กอายุประมาณ 1 ปีครึ่ง มีฟันผุประมาณ 18% ส่วนเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป มีฟันผุประมาณ 70%-80% นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของกองทันตสาธารณสุขเรื่อง นมขวดกับเด็กไทย ค่ะ ซึ่งพบว่า เด็กอายุ 1 - 2 ปี ติดการดูดขวดนมประมาณ 90% เด็กอายุ 2 - 2 ปีครึ่ง ติดการดูดขวดนม 80% และเด็กอายุ 1 ปีครึ่ง หลับคาขวดนม 29%
ช่วงอายุที่แพทย์แนะนำให้เด็กเลิกดูดขวดนมนั้นคือ ช่วงระหว่าง 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง แต่ถ้าเด็กไม่ยอมเลิกจริงๆ ก็ยืดไปได้ถึง 2 ปี แต่ไม่ควรเกินจากนี้ เพราะจะทำให้ฟันเสียรูปทรงได้ เนื่องจากเวลาดูดนมจะเกิดแรงดันจากการดูดจุกนมกับฟัน ทำให้ฟันยื่นหรือเหยินออกมาเกินปกติ
ปัญหาฟันผุสำหรับเด็กไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะคะ โดยเฉพาะฟันน้ำนมนั้นจะผุง่ายกว่าฟันแท้ หากมีการผุเพียงนิดเดียวจะลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟันมีการติดเชื้อได้ง่าย โดยเด็กที่มีอาการปวดฟันนั้นจะแสดงออกทางใบหน้า ลักษณะกรามจะบวม หน้าบวมตาบวมได้ นอกจากนี้การที่ฟันน้ำนมด้านหน้าหลุดไปเร็วเนื่องมาจากฟันผุนั้น จะทำให้ฟันเสียรูปทรง ฟันล่างอาจจะครอบฟันบน เนื่องจากเวลากินอาหาร เด็กมักจะเอาฟันล่างยื่นมาบดเคี้ยวแทนฟันบน
หากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู มีการดูแลสุขลักษณะในช่องปากเด็กที่ดี มีการแปรงฟันที่สะอาดก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของฟันผุได้ค่ะ แต่อย่างไรก็ตามควรจะให้เด็กเลิกการดูดขวดนมเมื่อถึงเวลาอันควร โดยเปลี่ยนให้เด็กได้ดื่มนมจากแก้ว หรือจากนมกล่องแทน
ปัญหาโรคอ้วน เด็กที่มีการดูดนมในช่วงเวลากลางคืน และในนมมีส่วนประกอบของสารให้ความหวานนั้น จะทำให้เกิดการสะสมอยู่ในรูปไขมันในร่างกายและทำให้อ้วนได้ และถ้าหากเด็กดูดนมในปริมาณที่มากและรับประทานอาหารอื่น ๆ ด้วยในปริมาณที่มากเกินความต้องการก็จะทำให้อ้วนได้ ยิ่งถ้าหากร่างหายมีเซลล์ไขมันมากก็จะส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมา และโรคอ้วนยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคกระดูก โรคข้อ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทางเดินหายใจอุดกั้น เป็นต้น
ปัญหาเด็กผอมเกินไป สาเหตุของเด็กที่ผอมนั้น เกิดจากเด็กกินนมมากทำให้อิ่มและไม่ยอมรับประทานอาหารเพิ่มเติม การที่เด็กได้รับสารอาหารจากนมแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทำให้เด็กไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็น เด็กจะขาดวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี ในนมจะมี ธาตุเหล็กและสังกะสีต่ำ ถ้าขาดธาตุเหล็กจะทำให้เด็กตัวซีด มีผลต่อสติปัญญาและสมาธิของเด็ก มีผลต่อเม็ดเลือดแดง และความอยากอาหารเนื่องจากการทำงานของกระเพาะลำไส้และต่อมรับรสที่ลิ้นจะผิดปกติ
สำหรับเด็กกินนมวัวมากเกินไปและไม่กินผักผลไม้ จะทำให้เด็กขาดวิตามินซี เนื่องจากในนมวัวนั้นมีวิตามินซีในปริมาณที่น้อยมาก ทำให้เกิดโรคลักปิดลักเปิด โรคเลือดออกตามไรฟัน ถ้าขาดวิตามินซีมากและไม่รีบแก้ไขจะเกิดผลต่อกระดูกและเยื่อหุ้มกระดูก จึงไม่ควรให้เด็กกินนมมากจนเกินไปแล้วไม่รับประทานอาหารอย่างอื่นเพิ่มเติม จะทำให้เด็กขาดสารอาหารได้
อย่างไรก็ตามเด็กที่กินนมแม่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ หากได้รับสารอาหารในปริมาณที่ร่างกายต้องการ การกินนมแม่จะช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ ได้แม้ว่าเด็กจะมีอายุมากกว่า 6 เดือนแล้วก็ยังสามารถกินนมแม่ได้จนถึงอายุ 2 ปี
นมแม่จะมีความหวานมากกว่านมอื่น ๆ เพราะจะมีน้ำตาลอยู่ถึง 5-7% ซึ่งอาจทำให้เกิดฟันผุได้ แต่นมแม่มีไขมันและโปรตีน ที่จะช่วยสะเทินความเป็นกรดในช่องปาก ฉะนั้นแม้ว่านมแม่จะมีความหวานกว่านมวัว แต่การกินนมแม่นั้นดีกว่าการดูดนมจากขวด เนื่องจากลักษณะของหัวนมแม่กับลักษณะของจุกนมนั้นมีความแตกต่างกันทำให้ไม่เกิดปัญหาเรื่องของฟันยื่นออกมา และเด็กที่กินนมแม่มากจะช่วงสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างสติปัญญาอีกด้วย
เด็กอายุไม่ถึง 1 ปี มักจะเป็นช่วงของการติดพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ทำให้เด็กอาจจะนอนไม่หลับและตื่นในช่วงกลางดึก เมื่อพ่อแม่เห็นลูกตื่นก็จะให้ลูกดูดนมเพื่อให้หลับต่อจนเกิดเป็นความคุ้นเคยกับเด็กไป เมื่อเด็กกินนมเข้าไปน้ำย่อยก็จะทำงาน เด็กจะไม่ยอมกินอาหารอื่นในตอนเช้า เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นวงจร ซึ่งพ่อแม่ควรต้องฝึกให้เด็กไม่กินนมในเวลาตื่นตอนกลางคืน และหาวิธีอื่นที่จะทำให้เด็กหลับต่อได้แทน
วิธีที่ว่านี้ก็มีอยู่หลายอย่างค่ะ เช่น ทำสภาพแวดล้อมให้เด็กนอนได้อย่างดีโดยไม่มีสิ่งใดมารบกวน แสงไฟฟลูออเรสเซ้นท์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เด็กตื่นได้นะคะ ดังนั้นควรจะมีการปิดไฟเพื่อให้เด็กนอนหลับได้สนิท หรืออาจจะเปิดเพลงให้เด็กฟังก่อนนอน โดยเพลงที่เลือกมานั้นต้องมีจังหวะที่พอดีกับช่วงจังหวะการเต้นของหัวใจ ไม่ดังและไม่เร็วจนเกินไป สร้างลักษณะนิสัยการนอนให้แก่เด็ก ก่อนนอนให้อาบน้ำ ฟังนิทานแล้วนอน โดยอย่าอุ้มหรืออย่ากอดรัดเพราะเด็กจะเกิดเป็นความคุ้นเคยและติดเป็นนิสัย หากไม่มีการอุ้มก็อาจจะไม่ยอมนอนได้
นอกจากนั้นพ่อแม่ควรเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก โดยฝึกเด็กให้รู้จักเวลานอนเวลากินเป็นนิสัย ในช่วงก่อนนอนควรจะให้เด็กกินนมให้อิ่ม และหลังจากกินนมเสร็จแล้วควรมีการทำความสะอาดภายในช่องปากให้สะอาดก่อนเข้านอน เพื่อจะช่วยให้ไม่เกิดฟันผุนะคะ
สำหรับการฝึกให้เด็กเลิกดูดนมจากขวดนั้น ก็อย่างที่บอกค่ะว่าควรเริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 6 เดือน 1 ปีครึ่งเป็นอย่างน้อย พ่อแม่ควรดูแลเอาใจใส่อย่างดี และไม่ควรตามใจเด็กมากจนเกินไป หากเด็กเคยชินกับการดูดขวดนมจนอายุเกินกว่า 1 ปีครึ่ง 2 ปีแล้วนั้น พ่อแม่ต้องพยายามหาวิธีที่จะทำให้เด็กเลิกดูดขวดนมและหันมาดื่มนมจากแก้วแทน เช่น การค่อย ๆ ลดปริมาณความเข้มข้นของนมที่ชงให้เด็กในขวด เพื่อให้เด็กรู้สึกไม่อยากกินนมขวด แต่ไม่ควรทำในระยะเวลานานนะคะ เพราะเด็กจะไม่ได้รับปริมาณสารอาหารที่เพียงพอ
อีกวิธีหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่อาจพูดคุยกับลูกให้เห็นถึงประโยชน์ของการกินนมจากแก้วค่ะ ถ้าลูกสามารถที่จะพูดคุยกันรู้เรื่อง แต่ไม่ควรที่จะว่ากล่าวหรือเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นอย่างชัดเจน ควรจะให้เวลาเพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคย และที่สำคัญไม่ควรให้เด็กเลิกการกินนมเพราะนมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วงสร้างความเจริญเติบโตให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดีค่ะ
นำมาจาก www.lovekid.com
|