ฝึกเจ้าตัวน้อยพูดตามวัย
บทความกล่าวถึง วิธีการกระตุ้นให้ลูกพูดได้ตามวัย บทบาทของคุณพ่อคุณแม่ในการกระตุ้นให้ลูกพูด การใช้ดนตรี พัฒนาการในการพูดของเด็กขวบปีแรก และวิธีการสังเกตว่าเด็กไม่พูดเพราะการได้ยินผิดปกติ
การพูดของเด็กเป็นพัฒนาการทางด้านสมอง คุณพ่อคุณแม่จึงให้ความสนใจเกี่ยวกับการพูดของเด็กว่า เมื่อถึงอายุเท่าใดควรพูดอะไรบ้าง ถ้ายังไม่พูด เมื่อถึงวัยนั้น ๆ จะต้องช่วยเหลือลูกอย่างไร ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดย น.พ.สมัย ศิริทองถาวร จัดเผยแพร่เรื่อง ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้เด็กพูดได้ตามวัยที่เหมาะสม ในวารสาร "เปี่ยมด้วยรัก" ฉบับเดือน มกราคม-เมษายน 2543 ซึ่งมีประโยชน์มากจึงขอนำมาเผยแพร่ต่อไป คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ถึงพัฒนาการพูดของลูก เป็นบทความ ซึ่งเขียนโดย ศาสตราจารย์ พญ. เพ็ญแข ลิ่มศิลา และข้อปฏิบัติในการฝึกให้ลูกพูดในชีวิตประจำวัน ของศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กปกติและเด็กออทิสติค
เด็กต้องได้ยินรับรู้ภาษาจากคนรอบข้าง
เด็กปกติที่มีอายุระหว่าง 2 ขวบ จะมีพัฒนาการในด้านการเรียนรู้ และสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการพูดและการสื่อภาษาเป็นอย่างดี การที่เด็กจะสามารถเปล่งเสียงออกมาจนถึงกับสามารถพูดได้นั้น เด็กจะต้องได้รับการเรียนรู้จากสิ่งเร้าที่เหมาะสม คือ จากเสียงต่าง ๆ ที่เขาได้ยินนั่นเอง ถ้าเด็กถูกเลี้ยงดูโดยเก็บเด็กไว้ในห้องที่ปราศจากเสียงต่าง ๆ ตลอดเวลาหรือคนที่เลี้ยงดูเด็กไม่พูดกับเด็กเลย เพราะคิดว่าเด็กเล็ก ๆ คงจะยังฟังอะไรไม่รู้เรื่อง หรือให้คนเป็นใบ้เป็นผู้เลี้ยงดูหรือเปลี่ยนคนเลี้ยงดูเด็กบ่อย ๆ และคนเลี้ยงแต่ละคนพูดภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ กันไป จะทำให้เด็กสับสน เด็กจะไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กพัฒนาการทางด้านการพูด ได้อย่างล่าช้าหรือเกิดเป็นใบ้เทียมไปได้
เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี และเหมาะสมแล้ว เด็กยังไม่สามารถเปล่งเสียงพูดออกมาได้ตามวัยอันสมควร จะต้องนึกถึงความสามารถทางการได้ยินของเด็กทันที คุณหมอเพ็ญแข ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตง่าย ๆ ที่พอจะทราบได้ว่า ลูกของท่านมีความผิดปกติทางการได้ยินหรือไม่ ดังนี้
พัฒนาการการได้ยินของลูกสังเกตได้ตั้งแต่แรกเกิด
ในระยะแรกเกิด ลูกจะสะดุ้งตื่นหรือร้องไห้ทันทีถ้าได้ยินเสียงดัง ๆ
ในระหว่าง 3 เดือน ลูกจะหันไปตามเสียงที่เขาได้ยิน เป็นเสียงที่เขาคุ้นเคย เช่น เสียงของพ่อแม่หรือคนในบ้านที่เรียกชื่อของเด็ก
ในระหว่าง 4 ถึง 6 เดือน ลูกสามารถหันไปมา เงยหน้า ก้มหน้า เพื่อให้พบเห็นสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงได้ เช่น เสียงกระดิ่งที่ประตู เสียงเห่าของสุนัข มองตามของเล่นที่มีเสียงเพลง จะเริ่มรู้สึกกลัวเสียงดัง ๆ
ในระหว่าง 7 ถึง 12 เดือน ลูกจะเริ่มตั้งใจฟังและแสดงท่าทางตอบสนอง ตามคนที่มาพูดกับเขา เริ่มจดจำเสียงและมองตามเสียงที่เด็กพอใจได้ เช่น เสียงเรียกชื่อของเด็กจากพ่อแม่ หรือพี่เลี้ยง เริ่มต้นปฏิบัติตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น มาหาแม่ นั่งลง รู้จักหยิบหรือชี้สิ่งของที่เด็กได้ใช้อยู่เป็นประจำ เช่น ขวดนม ถ้วยน้ำ รองเท้า เป็นต้น
สงสัยว่าลูกมีปัญหาการได้ยิน
เมื่อสังเกตการได้ยินว่าลูกไม่พัฒนาไปตามวัยดังกล่าว ควรรีบพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์หรือแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางหูทันที ซึ่งอาจจะตรวจพบว่ามีขี้หูจำนวนมาก อุดแน่นในรูหูหรือมีการอักเสบของช่องหูจากการเป็นหวัด ถ้ามีการอักเสบเรื้อรังก็จะทำให้เป็นหูน้ำหนวกได้ ลูกควรจะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันที ถ้าแพทย์ตรวจและให้การรักษาแล้ว เด็กยังไม่ได้ยิน ก็จะส่งไปรับการตรวจการได้ยินด้วย ถ้าพบว่าระดับการได้ยินของเด็กผิดปกติแต่ยังไม่ถึงกับหูหนวก ก็จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหูเพื่อพิจารณาว่าควจจะใส่เครื่องช่วยฟังหรือไม่ เพื่อช่วยให้ลูกไดมีพัฒนาการในด้านการได้ยิน จะได้เริ่มหัดพูดได้ดีขึ้น แต่ถ้าพบว่าลูกหูหนวกอย่างถาวร คงต้องทำใจยอมรับและให้การช่วยเหลือลูกอย่างเหมาะสมต่อไป
เด็กได้ยินแต่ไม่ยอมพูด
สำหรับเด็ก ออทิสติคนั้น ส่วนใหญ่จะตรวจพบว่าไม่มีความผิดปกติทางการได้ยิน อาจจะพบได้ว่าเด็กออทิสติค บางคนมีความสามารถทางการได้ยินดีมากจนเกินไป ทำให้เด็กแสดงอาการตื่นกลัวมาก เมื่อได้ยินเสียงดัง ๆ บางคนถึงกับเอามืออุดหูตัวเองไว้แน่น การที่เด็กออทิสติคพูดได้ล่าช้า หรือพูดภาษาของตนเองที่คนทั่วไปฟังไม่เข้าใจนั้น เป็นเพราะเด็กออทิสติคมีความผิดปกติทางการรับรู้และการเรียนรู้ จึงไม่เข้าใจภาษาจนไม่สามารถจะพูดหรือสื่อสารได้เหมือนกับเด็กปกติในวัยเดียวกัน มีผู้ปกครองของเด็กออทิสติคจำนวนไม่น้อยให้ประวัติว่า เด็กเคยพูดได้เป็นคำ ๆ เมื่ออายุระหว่าง 1-2 ขวบ แล้วก็หยุดพูดไป มาเริ่มพูดใหม่เป็นภาษานก ภาษากา ภาษาการ์ตูน ภาษาต่างด้าว ซึ่งคนฟังไม่รู้เรื่อง เด็กออทิสติคที่เริ่มพูดได้จะพูดแบบลอกเลียนคำ โดยยังไม่เข้าใจความหมายของคำนั้น ๆ เลย ซึ่งต่างจากเด็กปกติที่เมื่อเริ่มพูดได้ เขาก็จะสามารถเข้าใจความหมายของคำ ๆ นั้นได้เป็นอย่างดีแล้ว จึงเป็นแรงจูงใจให้เด็กมีความพยายามในการพูดต่อไป
การให้เด็กได้ยินเสียงพูดของผู้ดูแลเด็กในชีวิตประจำวัน ก็ช่วยให้เด็กพูดได้เหมาะสมตามวัย
ทางที่ดีที่สุดที่จะเร้าให้เด็กเริ่มมีพัฒนการทางการพูด และสื่อความหมายก็คือ พยายามพูดกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กกำลังสนใจมองหรือกำลังกระทำอยู่ในขณะนั้น เช่น ถ้าเห็นว่าเด็กกำลังมองดูลูกโป่ง ควรพูดกับเด็กทันทีอย่างช้า ๆ ออกเสียงให้ชัดเจนเป็นจังหวะว่า "ลูก .โป่ง" "ลูก .โป่ง .สี .แดง" "ลูก .โป่ง .ลอย .ได้" โดยอย่างเพิ่งหวังว่าเด็กจะพูดได้ทันที เด็กจะต้องรับรู้ จดจำและเรียนรู้ก่อนหลายครั้ง จึงจะเริ่มออกเสียงตามได้อย่างถูกต้อง
ขณะที่ท่านกำลังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้กับเด็ก จงพูดให้เด็กฟังถึงสิ่งที่ท่านกำลังกระทำอยู่ เช่น เมื่อเห็นว่าเด็กถ่ายปัสสาวะรดผ้าอ้อม ควรจับมือเด็กแตะที่ผ้าอ้อมและพูดว่า "ลูก .ฉี่ .แล้ว" "ผ้า .อ้อม .เปียก .ฉี่" "แม่ .ถอด .ผ้า .อ้อม" "ล้าง .ก้น" "เช็ด .ก้น" "ผ้า .อ้อม .ใหม่ .อยู่ .นี่" "แม่ .ใส่ .ให้ .ลูก .นะ"
ควรปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสเปล่งเสียงออกมาบ้าง อย่าไปแย่งเด็กพูดเสียหมด ขณะที่พูดกับเด็ก
ควรให้โอกาสเด็กได้คิดที่จะออกเสียงโดยการหยุดพูดชั่วระยะหนึ่ง เมื่อเด็กเริ่มเปล่งเสียงอ้อแอ้ จงให้เวลาเด็กได้ออกเสียงจนกว่าเด็กจะหยุดออกเสียงไปเอง พยายามอ่านใจเด็กให้ได้ว่าเขาอ้อแอ้เกี่ยวกับเรื่องอะไร ถ้าจะพูดตอบในเรื่องนั้น เพื่อเร้าให้เด็กได้ลอกเลียนแบบจากการพูดของท่าน
บทความ จากโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ