logo
ร้านปันปัน ยางกันลื่น ยางกันลื่นห้องน้ำ 085-1385363

บทความ

ฉลาด แต่ทำไมเรียนไม่เก่ง

17-07-2552 17:26:11น.

 

เหมือนว่าจะไม่มีภาวะใดที่จะทำให้พ่อแม่หรือครูรู้สึกหงุดหงิดมากไปกว่าการมีลูก หรือลูกศิษย์ที่เฉลียวฉลาดแต่มีผลการเรียนไม่ดี เด็กเหล่านี้คือเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าความสามารถที่แท้จริง หรือ “ฉลาดแต่ไม่เก่ง” ซึ่งน้อยคนนักที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าคำนี้หมายความว่าอะไรกันแน่ และลักษณะเช่นนี้จะเริ่มเมื่อไร และสิ้นสุดลงเมื่อไร

เด็กปัญญาเลิศที่สอบคณิตศาสตร์ตกในขณะที่อ่านหนังสือได้ดี เป็นหนึ่งในเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ ต่ำกว่าความสามารถที่แท้จริงหรือเปล่า ? และลักษณะแบบนี้จะเกิดขึ้นในทันทีทันใดหรือค่อยๆ เป็นมากขึ้นตามกาลเวลา แน่ละ ลักษณะของเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควรนี้เป็นเรื่องซับซ้อน และปรากฏให้เห็นได้ในหลายลักษณะ

ผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควร (Underachievement) หมายความว่าอย่างไร ?
ผลงานวิจัยที่ผ่านมา เช่น ราฟ, โกลด์เบอร์ก และพาสโซว์ (Raph, Goldberg and Passow, 1966) และจากบทความของเดวิสและริม (Davis and Rimm, 1989) ได้ให้นิยามการมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควรว่า เป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผลงานของเด็กที่โรงเรียน กับความสามารถบางอย่างที่เป็นดรรชนีบ่งชี้ถึงความสามารถ เช่น คะแนนจากแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา นิยามนี้แม้จะดูเหมือนว่าชัดเจนและกะทัดรัด ทั้งยังทำให้พ่อแม่มองเห็นภาพได้ และครูที่ประสงค์จะช่วยแก้ปัญหาให้แก่เด็กกลุ่มนี้พอเข้าใจได้ แต่ก็พบว่านิยามนั้นน่าจะพิจารณาลึกลงถึงส่วนประกอบต่างๆ ด้วย

 แรกสุดของการมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควรนั้น เห็นได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงทางที่ต่ำลงตามกาลเวลา บ่อยครั้งที่พบได้จากการที่เด็กมีปัญหาในการทำงานตั้งแต่เจตคติและกิจนิสัย อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นนิสัยหรือเจตคติก็สามารถจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับพฤติกรรม ดังนั้นการจะพูดว่า พฤติกรรมการมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควร ก็จะชี้ให้เห็นถึงแง่มุมของการดำรงชีวิตของเด็ก ที่เคยเป็นเด็กเก่งมาก่อนแล้วเปลี่ยนแปลงไป

การมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควรเป็นเรื่องที่มีทั้งเนื้อหาและสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง เด็กปัญญาเลิศที่ไม่ประสบความสำเร็จในโรงเรียน มักจะประสบความสำเร็จในกิจกรรมอื่นๆ นอกโรงเรียน เช่น เรื่องกีฬา กิจกรรมทางสังคมบางโอกาส และงานหลังเลิกเรียน แม้แต่เด็กที่เรียนอ่อนในหลายๆ วิชา ก็อาจแสดงความสามารถพิเศษหรือความสนใจน้อยมากในวิชาการต่างๆ ที่เรียนในโรงเรียน ดังนั้น การขนานนามเด็กว่าเป็น “เด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควร” หรือ “ฉลาดแต่ไม่เก่ง” นั้นไม่ได้ทำให้เกิดผลดีใดๆ แม้แต่พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมา

การมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควรก็อยู่ที่ผู้มองหรือผู้สังเกต เด็กบางคน ครู และผู้ปกครองคาดหวังแค่พอให้ผ่าน ฉะนั้น ถ้าเด็กให้เกรด A หรือ C ก็คิดว่าไม่มีปัญหา แต่บางกรณีถ้าความคาดหวังที่ตัวเด็กคือเกรด A หากเด็กได้ B+ อาจทำให้เกิดข้อกังขาว่าเด็กมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควรได้ ธรรมชาติที่เป็นลักษณะเฉพาะของการที่ทำให้คนประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น เป็นก้าวแรกที่จะทำให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรมของการมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควรในตัวเด็กแต่ละคน

การมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าที่ควรยังผูกอยู่กับการพัฒนาความคิดเกี่ยวกับตนเองเด็กๆ ที่เรียนรู้ในการมองตนเองในแง่ดีก็จะมีความพยายามที่จะชักนำตนเองให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ และเชื่อว่าความสำเร็จทางการเรียนนั้นมิใช่เรื่องของโชคชะตา แต่เด็กที่ได้เกรดต่ำมักจะมีความคิดในการมองตนเองต่ำ หรือมองในเชิงไม่ดี การมองตนเองอย่างไรก็จะส่งผลไปถึงเจตคติต่อตนเองโดยตรง เช่นทำไมฉันต้องพยายาม?” หรือ ยังไงก็ตกอยู่ดี หรือ “ต่อให้ฉันประสบความสำเร็จ ใครๆ ก็พูดว่าฉันโกงหรือบังเอิญสอบได้ ผลที่ออกมาคือ การมองตนเองต่ำต้อยด้อยค่า เรียนอ่อน จึงควรจะเปลี่ยนแปลงการรับรู้เกี่ยวกับตนเองของเด็กให้ดีหรือให้การยอมรับการท้าทายที่มีข้อจำกัดอยู่

ทำไมจึงฉลาดแต่ไม่เก่ง ?

การจะตอบคำถามนี้ ก็ควรดูจากสาเหตุซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้

1. การคาดหวังที่ไม่เป็นจริง:การแปลความหมายของความฉลาดและความเก่งเป็นความจริงไปหรือไม่?
สังคมมักคาดหวังว่าเด็กเรียนเก่งได้เกรดสูงว่าคือคนฉลาดและเก่ง แน่หล่ะเขาคาดหวังว่าคนเหล่านี้จะมีความสามารถสูงในทุกๆเรื่อง แต่ความจริงก็คือ คนเรามีความสามารถที่หลากหลาย คนบางคนอาจมีความโดดเด่นเป็นบางเรื่อง แต่กลับถูกคาดหวังในเรื่องที่เขาไม่ได้โดดเด่นด้วย ภาพที่ปรากฏก็เข้าทำนองฉลาดแต่ไม่เก่งได้  โดยเฉพาะในกรณีที่ความฉลาดถูกประเมิณจากระดับสติปัญญา IQ เป็นสำคัญ
ความฉลาดของบุคคลมิได้มีเพียง IQ แต่ยังมีความฉลาดในด้านอื่นๆ ที่เด็กควรจะต้องพัฒนาควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ EQ = ความฉลาดทางอารมณ์, CQ = ความฉลาดทางความคิดสร้างสรรค์,  AQ = ความฉลาดในการเผชิญปัญหา และ  MQ = ความฉลาดในการตัดสินใจและหาทางเลือกโดยอาศัยพื้นฐานทางศีลธรรม

2. ข้อจำกัดบางประการของตัวเด็ก
เด็กสติปัญญาดีหรือเด็กฉลาดหลายคนมีลักษณะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น  มีสมาธิสั้น มีปัญหาทางการเรียนรู้เฉพาะด้าน มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม 
ข้อจำกัดเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสามารถของเด็กจนไม่สามารถก้าวถึงศักยภาพที่มีอยู่ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ทันท่วงที

3. การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว
มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้โดยชัดเจนว่า บรรยากาศภายในบ้าน กฏของบ้าน วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ส่งผลโดยตรงกับการพัฒนาบุคลิกภาพ การเห็นคุณค่าในตนเอง การมีวินัย ความเป็นผู้นำ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความปรารถนาที่จะเป็นคนสมบูรณ์แบบ ตลอดจนค่านิยม เจตคติต่อการเรียนและการดำรงชีวิต

4. บริบททางสังคม
 สังคมที่ให้โอกาสและเห็นความสำคัญหรือคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ ย่อมจะส่งผลต่อการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ที่จะมีแหล่งบริการต่างๆ ในสังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาความสามารถที่หลากหลาย สังคมใดไร้โอกาสเช่นนี้ ก็ย่อมปิดกั้นและทำลาย “ความฉลาด” ไปอย่างน่าเสียดาย
--------------------------------------------------------------------------------------------

โดย ศาสตราจารย์ศรียา นิยมธรรม